ประวัติตะกร้อ ที่มาที่ไป กีฬาตะกร้อ
         ในการค้นคว้าหาหลักฐานเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดการกีฬาตะกร้อในอดีตนั้น ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้อย่างชัดเจนว่ากีฬาตะกร้อนั้นกำเนิดจากที่ใด
จากการสันนิษฐานคงจะได้หลายเหตุผลดังนี้
ประเทศพม่า เมื่อประมาณ พ.ศ. 2310 พม่ามาตั้งค่ายอยู่ที่โพธิ์สามต้น ก็เลยเล่นกีฬาตะกร้อกัน ซึ่งทางพม่าเรียกว่า “ชิงลง”
        ทางมาเลเซียก็ประกาศว่า ตะกร้อเป็นกีฬาของประเทศมาลายูเดิมเรียกว่า ซีปักรากา (Sepak Raga) คำว่า Raga หมายถึง ตะกร้า
         ทางฟิลิปปินส์ ก็นิยมเล่นกันมานานแล้วแต่เรียกว่า Sipak
         ทางประเทศจีนก็มีกีฬาที่คล้ายกีฬาตะกร้อแต่เป็นการเตะตะกร้อชนิดที่เป็นลูกหนังปักขนไก่ ซึ่งจะศึกษาจากภาพเขียนและพงศาวดารจีน ชาวจีนกวางตุ้งที่เดินทางไปตั้งรกรากในอเมริกาได้นำการเล่นตะกร้อขนไก่นี้ไปเผยแพร่ แต่เรียกว่าเตกโก (Tek K’au) ซึ่งหมายถึงการเตะลูกขนไก่
ประเทศเกาหลี ก็มีลักษณะคล้ายกับของจีน แต่ลักษณะของลูกตะกร้อแตกต่างไป คือใช้ดินเหนียวห่อด้วยผ้าสำลีเอาหางไก่ฟ้าปัก
          ประเทศไทยก็นิยมเล่นกีฬาตะกร้อมายาวนาน และประยุกต์จนเข้ากับประเพณีของชนชาติไทยอย่างกลมกลืนและสวยงามทั้งด้านทักษะและความคิด
ข้อมูลจาก
http://www.yimsiam.com
ประวัติ ในประเทศไทย
   ในสมัยโบราณนั้นประเทศไทยเรามีกฎหมายและวิธีการลงโทษผู้กระทำความผิด โดยการนำเอานักโทษใส่ลงไปในสิ่งกลมๆที่สานด้วยหวายให้ช้างเตะ แต่สิ่งที่ช่วยสนับสนุนประวัติของตะกร้อได้ดี คือ ในพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนาของรัชกาลที่ 2 ในเรื่องมีบางตอนที่กล่าวถึงการเล่นตะกร้อ และที่ระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเขียนเรื่องรามเกียรติ์ ก็มีภาพการเล่นตะกร้อแสดงไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้รับรู้
โดยภูมิศาสตร์ของไทยเองก็ส่งเสริมสนับสนุนให้เราได้ทราบประวัติของตะกร้อ คือประเทศของเราอุดมไปด้วยไม้ไผ่ หวายคนไทยนิยมนำเอาหวายมาสานเป็นสิ่งของเครื่องใช้ รวมถึงการละเล่นพื้นบ้านด้วย อีกทั้งประเภทของกีฬาตะกร้อในประเทศไทยก็มีหลายประเภท เช่น ตะกร้อวง ตะกร้อลอดห่วง ตะกร้อชิงธงและการแสดงตะกร้อพลิกแพลงต่างๆ ซึ่งการเล่นตะกร้อของประเทศอื่นๆนั้นมีการเล่นไม่หลายแบบหลายวิธีเช่นของไทยเรา การเล่นตะกร้อมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาตามลำดับทั้งด้านรูปแบบและวัตถุดิบในการทำจากสมัยแรกเป็นผ้า , หนังสัตว์ , หวาย , จนถึงประเภทสังเคราะห์ ( พลาสติก ) 
ความหมาย คำว่าตะกร้อ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ . ศ . 2525 ได้ให้คำจำกัดความเอาไว้ว่า ” ลูกกลมสานด้วยหวายเป็นตา สำหรับเตะ “ 

วิวัฒนาการการเล่น
    การเล่นตะกร้อได้มีวิวัฒนาการในการเล่นมาอย่างต่อเนื่อง ในสมัยแรกๆ ก็เป็นเพียงการช่วยกันเตะลูกไม่ให้ตกถึงพื้นต่อมาเมื่อเกิดความชำนาญและหลีกหนีความจำเจ ก็คงมีการเริ่มเล่นด้วยศีรษะ เข่า ศอก ไหล่ มีการจัดเพิ่มท่าให้ยากและสวยงามขึ้นตามลำดับ จากนั้นก็ตกลงวางกติกาการเล่นโดยเอื้ออำนวยต่อผู้เล่นเป็นส่วนรวม อาจแตกต่างไปตามสภาพภูมิประเทศของแต่ละพื้นที่ แต่คงมีความใกล้เคียงกันมากพอสมควร
ตะกร้อนั้นมีมากมายหลายประเภท เช่น
– ตะกร้อข้ามตาข่าย – ตะกร้อลอดบ่วง – ตะกร้อพลิกแพลงเป็นต้น
เมื่อมีการวางกติกาและท่าทางในการเล่นอย่างลงตัวแล้วก็เริ่มมีการแข่งขันกันเกิดขึ้นในประเทศไทยตาม
ประวัติของการกีฬาตะกร้อตั้งแต่อดีตที่ได้บันทึกไว้ดังนี้
พ . ศ . 2472 กีฬาตะกร้อเริ่มมีการแข่งขันครั้งแรกภายในสมาคมกีฬาสยาม
พ . ศ . 2476 สมาคมกีฬาสยามประชุมจัดร่างกติกาในการแข่งขันกีฬาตะกร้อข้ามตาข่ายและเปิดให้มีการแข่งขันในประเภทประชาชนขึ้นเป็นครั้งแรก
พ . ศ . 2479 ทางการศึกษาได้มีการเผยแพร่จัดฝึกทักษะในโรงเรียนมัธยมชายและเปิดให้มีแข่งขันด้วย
พ . ศ . 2480 ได้มีการประชุมจัดทำแก้ไขร่างกฎระเบียบให้สมบูรณ์ขึ้น โดยอยู่ในความควบคุมดูแลของ เจ้าพระยาจินดารักษ์ และกรมพลศึกษาก็ได้ออกประกาศรับรองอย่างเป็นทางการ
พ . ศ . 2502 มีการจัดการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 1 ขึ้นที่กรุงเทพฯ มีการเชิญนักตะกร้อชาวพม่ามาแสดงความสามารถในการเล่นตะกร้อพลิกแพลง
พ . ศ . 2504 กีฬาแหลมทองครั้งที่ 2 ประเทศพม่าได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการแข่งขัน นักตะกร้อของไทยก็ได้ไปร่วมแสดงโชว์การเตะตะกร้อแบบพลิกแพลงด้วย
พ . ศ . 2508 กีฬาแหลมทองครั้งที่ 3 จัดขึ้นที่ประเทศมาเลเซีย ได้มีการบรรจุการเตะตะกร้อ 3 ประเภท เข้าไว้ในการแข่งขันด้วยก็คือ
– ตะกร้อวง – ตะกร้อข้ามตาข่าย – ตะกร้อลอดบ่วง
อีกทั้งมีการจัดประชุมวางแนวทางด้านกติกาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพื่อสะดวกในการเล่นและการเข้าใจของผู้ชมในส่วนรวมอีกด้วย
พอเสร็จสิ้นกีฬาแหลมทองครั้งที่ 3 กีฬาตะกร้อได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก บทบาทของประเทศมาเลเซียก็เริ่มมีมากขึ้น จากการได้เข้าร่วมในการประชุมตั้งกฎกติกากีฬาตะกร้อประเภทข้ามตาข่าย หรือที่เรียกว่า ” เซปักตะกร้อ ” และส่งผลให้กีฬาตะกร้อข้ามตาข่าย ได้รับการบรรจุเข้าในการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 จนถึงปัจจุบัน

กติกากีฬาตะกร้อลอดห่วง

ของ สมาคมตะกร้อแห่งประเทศไทย
ฉบับปรับปรุง-แก้ไขใหม่ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2546
ให้เริ่มใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547
____________________________________________________
1. สนามแข่งขัน
สนามเป็นพื้นราบ จะอยู่ในร่มหรือกลางแจ้งก็ได้ วัดจากพื้นสนามขึ้นไปอย่างน้อยประมาณ 8 เมตร ต้องไม่มีสิ่งกีดขวางใดๆ และให้มีวงกลมรัศมี 2 เมตร จากจุดศูนย์กลางสนาม ความกว้างของเส้นวงกลม มีความกว้าง 4เซนติเมตร มีห่วงชัยแขวนอยู่ ณ จุดศูนย์กลางของวงกลม โดยเชือกที่แขวนห่วง มีความยาวจากรอกไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร
2. ห่วงชัย
ห่วงชัยประกอบด้วยวงกลม 3 ช่อง ขนาดเท่ากัน มีเส้นผ่าศูนย์กลางวัดจากภายใน กว้าง 45 เซนติเมตร ห่วงทั้ง 3 นี้ จะทำด้วย โลหะ หวาย หรือไม้ ก็ได้ แต่ต้องผูกหรือบัดกรีติดกันแน่นเป็นรูป 3 เส้า วงห่วงแต่ละห่วงตั้งตรง และหุ้มด้วยวัสดุที่มีความนุ่มแล้ว วัดโดยรอบไม่เกิน 10 เซนติเมตร และมีถุงตาข่ายทำด้วยด้ายสีขาว ผูกรอบห่วงทุกห่วง
ห่วงชัย ต้องแขวนกลางสนาม ขอบล่างของห่วงชัย ต้องได้ระดับสูงจากพื้นสนาม ดังนี้
– ประเภทเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี และหญิง                ความสูงของห่วงชัย   5.50 เมตร
– ประเภทประชาชน                                                           ความสูงของห่วงชัย    5.70 เมตร
3. ตะกร้อที่ใช้แข่งขัน
ตะกร้อให้สานด้วยหวาย 9-11 เส้น หรือผลิตด้วยใยสังเคราะห์ ซึ่งให้มีขนาดและน้ำหนัก ดังนี้
– ประเภทเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี และหญิง ขนาดเส้นรอบวง ไม่น้อยกว่า 40 เซนติเมตร และน้ำหนักไม่เกิน 200 กรัม
– ประเภทประชาชน ขนาดเส้นรอบวงไม่น้อยกว่า 40 เซนติเมตร และน้ำหนักไม่เกิน 240 กรัม
4. ให้ฝ่ายจัดการแข่งขัน จัดลูกตะกร้อไว้ ให้ผู้เข้าแข่งขัน ในกรณีที่ผู้เข้าแข่งขันนำลูกตะกร้อมาเอง จะต้องผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการฯ ก่อนการแข่งขันทุกครั้ง หากลูกตะกร้อที่นำมาเองไม่ถูกต้องตามกติกา ต้องใช้ลูกตะกร้อที่คณะกรรมการฯ จัดไว้ ทำการแข่งขัน
5. กรรมการผู้ตัดสิน
ต้องมีผู้ตัดสินอย่างน้อย 3 คน ให้ทำหน้าที่ บันทึกคะแนน, รักษาเวลา, ประกาศคะแนน และผู้ชี้ขาด
6. ทีมที่เข้าแข่งขัน
6.1 ให้ส่งรายชื่อเข้าทำการแข่งขันได้ไม่เกิน 8 คน มีผู้เล่นเข้าทำการแข่งขัน 7 คน หากทีมใดมีผู้เล่นไม่ถึง 6 คน ไม่มีสิทธิ์เข้าแข่งขันในครั้งนั้น โดยให้ส่งรายชื่อก่อนการแข่งขัน 30 นาที
6.2 ในระหว่างแข่งขัน สามารถเปลี่ยนตัวผู้เล่นได้ ซึ่งจะเปลี่ยนเวลาใดก็ได้ โดยผู้จัดการทีม ต้องยื่นขอต่อกรรมการผู้ชี้ขาด เมื่อลูกตะกร้อไม่ได้อยู่ในการเล่น (ลูกตาย) ซึ่งแต่ละทีมสามารถเปลี่ยนตัวผู้เล่นได้เพียง 1 คน โดยผู้ที่เปลี่ยนตัวเข้าไปใหม่ จะต้องไม่เล่น ในท่าที่ผู้เล่นเดิมทำครบแล้ว 2 ครั้ง และผู้ที่ถูกเปลี่ยนตัวออกไปแล้ว จะไม่อนุญาตให้เปลี่ยนตัวกลับคืนได้อีก
6.3 ผู้เล่นทุกคนต้องติดหมายเลขที่เสื้อด้านหน้า และด้านหลังอย่างเรียบร้อยด้วยตัวเลขที่อ่านง่าย สีของหมายเลขต้องตัดกับสีของเสื้อ หมายเลขด้านหลังต้องสูงไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร โดยผู้เล่นทีมเดียวกันจะใช้หมายเลขซ้ำกันไม่ได้
6.4 เครื่องแต่งกายของผู้เล่น
สำหรับผู้ชายต้องสวมเสื้อยืด กางเกงขาสั้น ส่วนผู้หญิง ให้สวมเสื้อยืดมีแขน และกางเกงขาสั้นระดับเข่า สวมใส่รองเท้าพื้นยาง (ถุงเท้าด้วย) กรณีที่อากาศหนาวอนุญาตให้ผู้เล่นสวมใส่ชุดวอร์มแข่งขันได้
6.4.1 ส่วนต่างๆ ของเครื่องแต่งกายของผู้เล่นถือเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย และชายเสื้อต้องอยู่ในกางเกงตลอดเวลาการแข่งขัน
6.4.2 สิ่งใดก็ตามที่จะช่วยเร่งความเร็วของลูกตะกร้อ หรือช่วยในการเคลื่อนที่ของผู้เล่น ไม่อนุญาตให้ใช้
6.5 เมื่อถึงเวลาการแข่งขัน คณะกรรมการจัดการแข่งขัน จะเริ่มจับเวลา โดยให้ถือเป็นเวลาของการแข่งขันของทีมนั้นๆ หากทีมนั้นพร้อมเมื่อใด ก็ให้ทำการแข่งขันตามเวลาที่เหลืออยู่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป 10 นาทีแล้ว ยังไม่สามารถลงสนามแข่งขันหรือยังไม่พร้อมทำการแข่งขัน ให้ทีมนั้นหมดสิทธิ์ในการแข่งขันครั้งนั้นๆ โดยไม่มีอุทธรณ์
7. กำหนดเวลาการแข่งขัน
7.1 ให้ใช้เวลาในการแข่งขัน 40 นาที เมื่อเวลาการแข่งขันผ่านไปครึ่งเวลา (20 นาที) กรรมการต้องประกาศให้ทราบทั้งเวลาและคะแนนที่ทำได้
7.2 ผู้เข้าแข่งขันในทีมใดเกิดอุบัติเหตุขึ้นในระหว่างการแข่งขันอยู่ และไม่สามารถทำการแข่งขัน ให้ขออนุญาตจากกรรมการผู้ตัดสินออกจากสนามชั่วคราวได้
7.3 หากนักกีฬาทีมที่บาดเจ็บนั้น จะกลับเข้าทำการแข่งขันต่อไปอีก ให้ขออนุญาตต่อกรรมการผู้ตัดสินก่อนทุกครั้ง ทั้งนี้ ต้องให้เป็นไปตาม ข้อ 6.1
8. การแข่งขัน
8.1 ให้ผู้เล่น ยืนเป็นรูปวงกลม เว้นระยะห่างกันพอสมควร ในระหว่างการแข่งขันผู้เล่นจะสลับเปลี่ยนที่กันก็ได้
8.2 เมื่อผู้ตัดสินให้สัญญาณเริ่มการแข่งขัน ให้ผู้เล่นคนใดคนหนึ่งโยนลูกตะกร้อให้แก่คู่หนึ่งหรือคู่สองของตน ต่อจากนั้นไป เมื่อลูกตาย ผู้เล่นใดถูกลูกก่อนจะต้องเป็นผู้โยน และต้องโยนให้คู่หนึ่งหรือคู่สองของตน เพื่อเล่นต่อไปทุกคราว โดยผู้โยนและผู้รับลูกโยน ต้องอยู่นอกวงกลม
8.3 เมื่อลูกตายแล้ว จะเปลี่ยนลูกตะกร้อก็ได้
8.4 ในการโต้ลูก ห้ามไม่ให้ผู้เล่นใช้มือ ถ้าผู้เล่นใช้มือจับลูก ผู้เล่นที่ใช้มือจับลูกต้องโยนลูกให้คู่ของตนเตะแล้วปล่อยให้ลูกตายก่อน จึงนำลูกมาโยนเพื่อเล่นต่อไปได้
8.5 กรณีต่อไปนี้ให้ถือเป็นลูกตาย ให้โยนใหม่
(1) ลูกตกถึงพื้นสนาม
(2) ลูกถูกมือผู้เล่น ยกเว้นกรณีที่ผู้เล่นเตะลอดบ่วงมือ แล้วลูกกระทบบ่วงมือนั้น
(3) ลูกติดกับห่วงชัย
(4) ลูกถูกวัตถุใดๆ ที่ไม่ใช่อุปกรณ์ตะกร้อลอดห่วง
8.6 ถ้าลูกโต้ยังดีอยู่เข้าห่วง หรือลูกตะกร้อที่หวายขาดไปเกี่ยวกับตาข่าย และค้างอยู่ภายในรัศมีวงกลมห่วงชัย ให้กรรมการผู้ตัดสินให้คะแนนตามลักษณะของท่าที่กำหนดในข้อ 8.เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้
(1) ผู้เล่นโต้ลูกโยนไปเข้าห่วง
(2) ผู้เล่นถูกลูกเข้าห่วงภายหลังสัญญาณหมดเวลา
(3) ลูกเข้าห่วงแล้วกระดอนออก
(4) ผู้เล่นคนใดเตะลูกเข้าห่วง ซ้ำท่าเกินกว่า 2 ครั้ง
9. การให้คะแนนของท่าการเล่น

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม